วันอังคารที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2560

บทความเรื่อง เทคโนโลยีสารสนเทศและคอมพิวเตอร์กับการศึกษาไทย

บทความเรื่อง เทคโนโลยีสารสนเทศและคอมพิวเตอร์กับการศึกษาไทย
       ในศตวรรษที่ 21 ซึ่งถือว่าเป็นยุคเทคโนโลยีสารสนเทศ เกิดการเปลี่ยนแปลงของโลกในหลายๆด้านทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมอันนำไปสู่การปรับตัวเพื่อให้เกิดความสามารถในการแข่งขันท่ามกลางกระแสโลกาภิวัฒน์ทุกประเทศทั่วโลกกำลังมุ่งสู่กระแสใหม่ของการเปลี่ยนแปลงที่เรียกว่า สังคมความรู้ (KnowledgeSociety) และระบบเศรษฐกิจฐานความรู้ (Knowledge-Based Economy) ที่จะต้องให้ความสำคัญต่อการใช้ความรู้และนวัตกรรม (Innovation) เป็นปัจจัยในการพัฒนาและการผลิตมากกว่าการใช้เงินทุนและแรงงาน
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

      ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทำให้ข้อมูลข่าวสารและความรู้ ซึ่งประกอบกันเป็น สารสนเทศนั้น สามารถลื่นไหลได้สะดวก รวดเร็ว จนสามารถประยุกต์ใช้ได้อย่างกว้างขวาง ตั้งแต่ระดับบุคคลขึ้นไปถึงระดับองค์กรอุตสาหกรรม ภาคสังคม ตลอดจนในระดับประเทศและระหว่างประเทศ จนกระทั่งภาวะ ไร้พรหมแดนอันเนื่องมาจากอิทธิพลของเทคโนโลยีสารสนเทศดังกล่าว ได้เกิดขึ้นในกิจกรรมและวงการต่างๆ และนับเป็นความกลมกลืนสอดคล้องกันอย่างยิ่ง ที่การพัฒนาบุคลากรในสังคมอันประกอบด้วยภาคการศึกษา และการฝึกอบรมเป็นเรื่องราวของการเรียนรู้สารสนเทศในรูปแบบต่างๆ ทั้งที่เป็นข้อมูล (Data) ข่าวสาร (Information)ก็ตาม ดังนั้นเทคโนโลยีสารสนเทศจึงเป็นเครื่องมือที่สามารถนำประโยชน์มาสู่วงการศึกษา ได้อย่างเหมาะสมหากรู้จักใช้ให้เป็นประโยชน์และคุ้มค่าต่อการลงทุน (ไพรัช ธัชยพงษ์และพิเชษ ดุรงคเวโรจน์ .2541
      เมื่อกล่าวถึงเทคโนโลยีสารสนเทศ อุปกรณ์ที่เป็นเทคโนโลยีระดับสูงอย่างหนึ่งที่นับว่ามีบทบาทอย่างยิ่งได้แก่ คอมพิวเตอร์”(Computer) ซึ่งใช้กันอย่างแพร่หลายในทุกวงการ โดยเฉพาะวงการศึกษาได้นำคอมพิวเตอร์มาใช้ประโยชน์ไม่ว่าจะเป็นในด้านการบริหาร การบริการ และการใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการเรียนการสอน เป็นต้น
      พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช 2525 ได้ให้ความหมายของ คอมพิวเตอร์ไว้ว่าเครื่องอิเล็กทรอนิกส์แบบอัตโนมัติ ทำหน้าที่เสมือนสมองกล ใช้สำหรับแก้ปัญหาต่างๆที่ง่ายและซับซ้อนโดยวิธีทางคณิตศาสตร์คอมพิวเตอร์จึงเป็นเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้งานแทนมนุษย์ในด้านการคำนวณและสามารถจำข้อมูลทั้งตัวเลขและตัวอักษรได้ เพื่อการเรียกใช้งานครั้งต่อไป รวมทั้งสามารถจัดการกับสัญลักษณ์ (Symbol) ได้ด้วยความเร็วสูงโดยปฏิบัติตามขั้นตอนของโปรแกรม นอกจากนี้ยังมีความสามารถในด้านต่างๆ เช่น การรับส่งข้อมูล การจัดเก็บข้อมูลไว้ในตัวเครื่องและสามารถประมวลผลจากข้อมูลต่างๆ ได้ (ตวงแสง ณ นคร .2542)
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

      คอมพิวเตอร์ที่นำมาใช้ในวงการศึกษา หรืออาจเรียกว่า คอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษา (Computer-Based Education, Instructional Computer : IC, Computer-Based Instruction : CBI) มีความหมายเหมือนกันคือ การนำคอมพิวเตอร์ มาใช้ประโยชน์ในด้านการศึกษา ไม่ว่าจะ เป็นการจัดการเรียนการสอน การลงทะเบียน การจัดทำบัตรนักศึกษา การจัดทำผลการเรียนการสอนรวมไป จนถึงการออกใบรับรองการจบหลักสูตร
      Robert Taylor นักเทคโนโลยีการศึกษา ได้แบ่งการใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษา ไว้ในหนังสือ the Computer in the School : Tutor, Tutee โดยได้แบ่งการนำคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ในโรงเรียนออกเป็น 3 ลักษณะคือ การใช้คอมพิวเตอร์ในลักษณะของติวเตอร์ การใช้คอมพิวเตอร์ในลักษณะของอุปกรณ์ การเรียนการสอนและการใช้คอมพิวเตอร์ในลักษณะของผู้เรียน (ดิเรก ธีระภูธร .2545)
      แต่กระบวนการในการจัดการศึกษาในภาพรวม ไม่ได้หมายถึงสถานศึกษาหรือสถาบันการศึกษาเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ทั้งนี้ยังมีหน่วยงานทางการศึกษาและองค์กรอื่นที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการบริหารและสนับสนุนการจัดการศึกษาด้วย ฉะนั้นบทบาทของคอมพิวเตอร์ที่จำเป็นต้องนำมาใช้ในการศึกษา จึงแบ่งเป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
1. คอมพิวเตอร์เพื่อการบริหาร (computer Applications into Administration) การบริหารการศึกษานับเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดทิศทาง นโยบาย อันนำไปสู่แนวทางปฏิบัติในการจัดการศึกษา ทั้งในระดับประเทศและระดับท้องถิ่น สิ่งสำคัญในการที่จะช่วยให้บริหารเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพก็คือความพร้อมของข้อมูลในการบริหารจัดการเพื่อการตัดสินใจและกำหนดนโยบายการศึกษา คอมพิวเตอร์จึงเข้ามามีบทบาทในการบริหารการศึกษามากขึ้น ซึ่งช่วยให้การดำเนินงานตั้งอยู่บนฐานข้อมูลที่ชัดเจนถูกต้องและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด สรุปได้ดังนี้
      1.1 การบริหารงานทั่วไป เป็นการนำคอมพิวเตอร์ช่วยในการบริหารงานบุคคล งานธุรการ การเงินและบัญชีการประชาสัมพันธ์ รวมถึงการจัดทำระบบฐานข้อมูล (Management Information System :MIS) เพื่อประโยชน์ในการวางแผนและบริหารการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น
      1.2 งานบริหารการเรียนการสอน เป็นการนำคอมพิวเตอร์ช่วยในการบริหารของครูผู้สอนนอกเหนือจากงานด้านการสอนปกติ เช่น งานทะเบียน งานด้านเอกสาร การจัดตารางสอน ตารางสอบ การตรวจและการเก็บรวบรวมคะแนน การสร้าง-วิเคราะห์ข้อสอบ การวัดและประเมินผลการเรียน เป็นต้น
2. คอมพิวเตอร์เพื่อการจัดการเรียนการสอน (Computer -Managed Instruction) การใช้คอมพิวเตอร์ช่วยจัดการเรียนการสอน เพื่อช่วยให้ครูผู้สอนไม่ต้องเสียเวลากับการงานบริหาร ครูผู้สอนจะได้มีเวลาไปปรับปรุงบทเรียนให้ทันสมัยและมีเวลาให้กับนักเรียนมากขึ้น เช่น การจัดเลือกข้อสอบ การตรวจและให้คะแนนและวิเคราะห์ข้อสอบ การเก็บประวัตินักเรียนเฉพาะวิชาที่สอนเพื่อดูพัฒนาการด้านการเรียนและการให้คำปรึกษา และช่วยในการจัดทำเอกสารเกี่ยวกับการเรียนการสอนของวิชาที่สอน รวมถึงการนำคอมพิวเตอร์มาช่วยในการจัดการเรียนการสอนจะทำให้ครูผู้สอนสามารถวิเคราะห์ผู้เรียนเพื่อออกแบบและพัฒนาระบบการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตรงกับวัตถุประสงค์และความต้องการของผู้เรียน
3. คอมพิวเตอร์ช่วยสอน (Computer -Assisted Instruction : CAI) คอมพิวเตอร์ช่วยสอนเป็นกระบวนการเรียนการสอน โดยใช้สื่อคอมพิวเตอร์ ในการนำเสนอเนื้อหาเรื่องราวต่างๆ มีลักษณะเป็นการเรียนโดยตรง และเป็นการเรียน แบบมีปฏิสัมพันธ์ (Interactive) คือสามารถ โต้ตอบระหว่างผู้เรียนกับคอมพิวเตอร์ได้ เช่นเดียวกับการสอนระหว่างครูกับนักเรียนที่อยู่ในห้องตามปกติ คอมพิวเตอร์ช่วยสอนมีหลายประเภทตามวัตถุประสงค์ที่จะให้นักเรียนได้เรียน กล่าวคือ ประเภทติวเตอร์ ประเภทแบบฝึกหัด ประเภทการจำลอง ประเภทเกม ประเภทแบบทดสอบซึ่งในแต่ละประเภทก็มีจุดมุ่งหมายในการให้ความรู้แก่ผู้เรียนแต่วิธีการที่แตกต่างกันไป ข้อดีของการใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอนคือช่วยลดความแตกต่างระหว่างผู้เรียน เช่นผู้ที่มีผลการเรียนต่ำ ก็สามารถชดเชยโดยการเรียนจากบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนได้ และสำหรับผู้มีผลการเรียนสูงก็สามารถเรียนเสริมบทเรียนหรือเรียนล่วงหน้าก่อนที่ผู้สอนจะทำการสอนก็ได้

      จากบทความข้างต้นจะเห็นว่าแนวโน้มในการนำคอมพิวเตอร์มาใช้ในการศึกษาในปัจจุบันและอนาคตจะเป็นรูปแบบของการเรียนการสอน โดยนำเอาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ มาผสมผสานกับเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต เนื่องจากเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตมีลักษณะเฉพาะ คือ มีความสามารถในการนำเสนอข้อมูลผ่านระบบ World Wide Web ในการใช้เพื่อการจัดการเรียนการสอนผ่านเว็บ (Web-Based Instruction : WBI) หรือ E-learning ซึ่งวงการศึกษาคงจะหลีกเลี่ยงได้ยากยิ่ง


ที่มา : ข้อมูลและรูปภาพจากอินเทอร์เน็ต

ชาวนาคือ “กระดูกสันหลังของชาติ”

 






ชาวนาคือ “กระดูกสันหลังของชาติ”

ผู้อ่านคงจะเดาได้จากชื่อบทความว่าผู้เขียนจะเขียนเกี่ยวกับเรื่องอะไร นั่นก็คือเขียนเรื่องเกี่ยวกับวิถีชีวิตของคนซึ่งเกิดจากการทำนา จากสำนวนที่ว่า กระดูกสันหลังของชาติ  ซึ่งหมายถึง ชาวนา  และคำนี้ก็ยังเป็นคำที่เปรียบเทียบความสำคัญของชาวนาคือกระดูกสันหลังของชาติ ผู้ผลิตอาหาร ปัจจัยหลักของประเทศและของโลกใบนี้
กระดูกสันหลัง หมายถึง โครงกระดูกอันเป็นโครงสร้างหลักที่ช่วยให้ร่างกายส่วนบนของคนทรงตัวอยู่ได้ ถ้ากระดูกสันหลังแตกหักผุพังด้วยเหตุใดๆแล้ว ร่างกายของคนก็จะพิกลพิการสูญเสียได้ เกษตรไทยโดยเฉพาะชาวนาก็ได้รับการเปรียบเทียบว่าเป็นกระดูกสันหลังของชาติ เพราะคนไทยส่วนใหญ่ของประเทศมีความสำคัญต่อความมั่นคงของชาติตั้งแต่ยุคเริ่มสร้างชาติไทยเป็นต้นมา ชาวนาทั้งหลายทำให้ประเทศไทยมีความมั่นคงทั้งทางด้านเศรษฐกิจและทางด้านสังคม เพราะประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศไทยมีข้าวปลาอาหารสมบูรณ์ หรือเรียกได้ว่า ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว คือว่ามีข้าวเหลือจากการบริโภคภายในประเทศ จึงทำเป็นสินค้าส่งออกของประเทศที่เป็นอันดับหนึ่งของโลกด้วย โดยไม่ต้องคุยโอ้อวดว่าเป็นครัวโลกมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์แล้ว ข้าวทั้งหมดที่ผลิตมาได้นั้น ก็ได้มาจากชาวนาไทยที่เรียกว่า ตาสีตาสา และ ยายมียายมา ไม่ใช่ได้มาจากเกษตรกรไฮเทคของบริษัทข้ามชาติ ที่ชูคอเป็นไฮโซโอ่อ่าอยู่ในหมู่คนไฮคลาสของชาติไทย
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่แปลกแต่จริงในประเทศไทยอีกเรื่องหนึ่งก็คือ ตาสีตาสาและยายมียายมาที่บ้านทุ่ง พวกแกยากจนลงทุกวัน มีหนี้สิ้นพอกพูนขึ้นจนหลังแอ่น ในขณะที่พ่อค้าข้าวกลับร่ำรวยอวบอ้วนเป็นมหาเศรษฐีไปตามๆกัน อยากถามว่าสังคมแบบนี้เป็นธรรมสังคมหรือไม่ พ่อค้าที่เอาเปรียบคนจนโดยเฉพาะชาวนา จึงสมควรแล้วที่ถูกเรียกว่า ทำนาบนหลังคน นั่นหมายถึงการเอารัดเอาเปรียบคนบ้านนอกคอกนาด้วยการซื้อถูกขายแพง พ่อค้าจะซื้อข้าวจากชาวนาในราคาที่ต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้ พ่อค้าส่งข้าวออกต่างประเทศจะได้ราคาสูงมากๆ ในระดับอินเตอร์ได้กำไรอื้อซ่า รัฐบาลเก็บภาษี (พรีเมี่ยม) ได้ก็บำรุงบำเรอแต่คนกรุงหรือคนในเมือง กระดูกสันหลังของชาติหรือคนบ้านนอกคอกนาถูกทอดทิ้งให้อยู่ตามมีตามเกิด หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดินตลอดมา ในบางครั้งนักการเมืองบางคนชูนโยบายหาเสียงกับคนบ้านนอก โดยพูดอย่างเอาใจชาวนาว่า ทุกข์ของชาวนาคือทุกของแผ่นดิน ชาวนาเป็นทุกข์จริงๆ พูดอย่างนี้เรียกว่ามองปัญหาถูกจุด แต่ต้องถามต่อไปว่า แล้วรัฐบาลจะช่วยชาวนาอย่างไรในเมื่อพ่อค้าข้าว ล้วนแต่แสวงหากำไรจากชาวบ้าน มิหนำซ้ำยังดำรงตำแหน่งเป็นท่านเสนาบดีปกครองไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน พร้อมทั้งแสวงหาลู่ทางกอบโกยผลประโยชน์จากอำนาจหน้าที่มากยิ่งขึ้น บางคนที่นับถือคนรวยมักบอกว่า ท่านมหาเศรษฐีท่านร่ำรวยล้นฟ้าแล้ว ท่านไม่โกงกินหรอก เพราะเศษเงินที่ท่านมีจะใช้จ่ายอย่างไรก็ไม่หมด แต่หลายคนก็ไม่เชื่อว่าคนรวยจะไม่โกงหรือไม่หาผลประโยชน์ถ้ามีโอกาส เคยมีเพื่อนที่เป็นคริสเตียนเล่าถึงคำพูดพระเยซูว่า การที่จะให้พ่อค้าเสียสละนั้น จูงอูฐรอดรูเข็มยังง่ายกว่าประเด็นนี้จริงแท้แค่ไหนก็คงจะต้องพิจารณาเอาเองตามสติปัญญา แต่ที่แน่ๆ แท้จริงในประเทศไทยนั้นชาวนาตาสีตาสาอันเป็นกระดูกสันหลังของชาติมีชีวิตอันแสนลำบากยากจนข้นแค้น ถ้าเทียบกับพ่อค้าข้าวผู้แสนจะมั่งมีศรีสุขใช้ความเฉลียวฉลาดขูดรีดเอาผลประโยชน์จากหยาดเหงื่อแรงงานของคนบ้านนอกคอกนา อันเปรียบเสมือนการทำนาบนหลังคนจน แล้วใครจะหยิบยื่นความเอื้ออาทรมาปลดเปลื้องทุกข์ของชาวนาเล่า เห็นมีแต่หนี้ของชาวบ้านเพิ่มขึ้นๆ เหมือนดินพอกหางหมู เป็นหนี้หนักเข้าก็ต้องขายวัวขายควายขายลูกสาว ลูกยังไม่ทันสาวก็ถูกตกเขียว ข้าวในนายังไม่ทันสุกใบยังเขียวก็ถูกตกเขียว โดยพ่อค้าตีราคาให้เงิน (ให้เป็นหนี้) ไว้ก่อน เมื่อข้าวสุกรวงเหลืองอร่ามแล้วพ่อค้าก็จะมาเอาข้าวไป ลูกสาวก็ถูกตกเขียวเหมือนข้าว ถ้าชาวนายากจนและไม่มีทางออก ผิดกันแต่ว่า ข้าวนั้นคนเอาไปกิน แต่ลูกสาวชาวบ้านเอาไปทำปู้ยี่ปู้ยำเหมือนไม่ใช่คน ชาวนายากจนถึงที่สุดก็ต้องขายสมบัติที่สำคัญสิ่งสุดท้าย คือ ที่ดินที่ใช้ทำมาหากิน บางคนก็ต้องระเหเร่ร่อนพลัดที่นาคาที่อยู่ กระเสือกกระสนไปหางานทำในเมืองกรุง ไปเป็นกรรมกร ไปขายบริการ ไปขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างอยู่ในซอย ฯลฯ เมื่อใดที่รัฐบาลแก้ไขปัญหาความจนได้สำเร็จ เมื่อนั้นมอเตอร์ไซค์รับจ้างจึงจะสูญพันธุ์ไป ดังคำประพันธ์ ที่ว่า
                                           ชายข้าวเปลือกหญิงข้าวสาร
                    “.....ชายข้าวเปลือกหญิงข้าวสารโบราณว่า     น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่าอัชฌาศัย
               เราก็จิตคิดดูเล่าเขาก็ใจ                                 ปลูกอื่นใยปลูกไมตรีดีกว่าพาล
       (มาจากบทเรียนหรือคำกลอนสอนใจ สมัยราวหกสิบปีมาแล้ว ไม่แน่ใจว่าสมัยนี้ยังใช้เรียนกันอยู่หรือไม่)



และในช่วงเวลานี้ที่พี่น้องเกษตรกรชาวนา ก็ยังคงเดือนร้อนกับ การเปลี่ยนสถานะจากลูกหนี้ มาเป็นเจ้าหนี้  จากการนำข้าวไปจำนำตามนโยบายประชานิยมของรัฐบาล แล้วได้ใบประทวนมาถือครองไว้แทนเงินสดที่ควรจะได้ ชาวนาหลายครอบครัว ต้องไปกู้ยืมเงินนอกระบบ ดอกเบี้ยสูง เพื่อมาใช้จ่ายหมุนเวียนในครอบครัว บางครอบครัวต้องขายทรัพย์สิน เพื่อแลกเป็นเงินมาประทังชีพ ระหว่างที่ยังไม่ได้เงินจากโครงการรับจำนำข้าว แต่ในอีกฝากฝั่งหนึ่งของคนที่ไม่ได้มีอาชีพเป็นเกษตรกร อาจมองว่า อาชีพเกษตรกรเป็นอาชีพที่ไม่น่าอภิรมย์เสียเลย เป็นอาชีพที่ไม่น่าจะมีความสุขเลย หรือ บางคนอาจมีทัศนคติไปว่า เกษตรกรเป็นอาชีพที่ไม่มีความสำคัญอะไรเลย
           วันนี้เกษตรกรส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ ในวัย 50 ปีขึ้นไป จนถึง 70-80 ปี ระดับการศึกษาส่วนใหญ่เรียนจบชั้นประถมศึกษา มีรายได้ต่อครัวเรือนปีละประมาณ 2-3 แสนบาท เฉลี่ยแค่เดือนละประมาณ หมื่นกว่าบาทเท่านั้นเองค่ะ และเป็นรายได้ตามผลผลิตในแต่ฤดูกาลอีกด้วยนะค่ะ อย่างวันนี้ เราก็เห็นพี่น้องชาวเกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มชาวนาที่ปลูกข้าว กลุ่มชาวไร่ ชาวสวน ชาวประมง และกลุ่มเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ ต่างก็จะมีปัญหาที่คล้ายคลึงกัน ในเรื่องของราคาผลผลิตที่ตกต่ำ ขายไม่ได้ราคา หักลบต้นทุนค่าใช้จ่ายแล้ว ก็ไม่เหลือกำไรเลย แล้วก็ยังมีปัญหาหนี้สิน ของชาวเกษตรกรอีกหลายครอบครัว ที่ต้องไปกู้หนี้ยืมสินมา เพื่อมาเป็นเงินทุนหมุนเวียนใช้จ่ายภายในครอบครัว แล้วก็ใช้ลงทุนในการผลิตแต่ละปี ลูกหลานชาวเกษตรกรบางส่วน ก็ไม่สนใจที่จะสืบสานอาชีพเกษตรกรต่อ เพราะว่าได้รับการศึกษาสูงขึ้น มีโอกาสในการเลือกอาชีพได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม หรือ ภาคบริการ คิดดูกันนะค่ะว่า ต่อไปเราจะเหลือเกษตรกรที่มีใจรักในอาชีพเกษตรกร ที่ยินดีเป็นกระดูกสันหลังของชาติเหลืออีกสักกี่คน ถ้าเราไม่ช่วยกันส่งเสริม สนับสนุน และให้ความช่วยเหลือเกษตรกร อนาคตของประเทศชาติเราจะเป็นอย่างไรค่ะ ซึ่งฉันมองว่า ถ้าให้เยาวชนหรือลูกหลานเกษตรกรมองเห็นอยู่ว่า รุ่นพ่อ รุ่นแม่ ยังทำเกษตรในรูปแบบเดิมๆ ที่ไม่ได้ทำให้มีผลผลิตเพิ่มสูงขึ้น หรือ มีมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ก็คงจะไม่สนใจที่อยากจะมามีอาชีพเป็นเกษตรกร แต่ถ้าพวกเขาได้มีโอกาสเรียนรู้ และเห็นการใช้เทคโนโลยีทางการเกษตร ได้มีโอกาสค้นคว้าทดลองขยายพันธ์ ทดลองปลูกในแนวคิดใหม่ๆ ได้ ไม่ถูกตีกรอบด้วยวิธีการเกษตรแบบเดิมๆ ก็อาจจะเป็นแรงจูงใจให้เป็น เกษตรกรรุ่นใหม่ที่อาจจะเป็นกระแส และเป็นเทรนด์ สำหรับเยาวชนลูกหลานเกษตรกรได้
หรือบางคนเคยมีปัญหานี้สิน จากความจำเป็นที่ต้องกู้ยืมเงิน เพื่อไปซื้อปุ๋ยเคมี ซื้อยาฆ่าแมลง ซื้อเมล็ดพันธ์ แล้วก็รอเวลาเก็บเกี่ยวผลผลิตเพื่อนำไปขายแล้วก็เอาเงินกู้ไปคืนพร้อมดอกเบี้ย
          แต่เขาก็สามารถที่จะหลุดพ้นจากความเป็นลูกหนี้ได้ ด้วยการพลิกวิถีการทำเกษตรแบบเดิมๆ ที่มีต้นทุนสูง มีรายได้ตามฤดูกาล แล้วก็ยังต้องเสี่ยงกับความเจ็บป่วยที่มาจากการใช้สารเคมี มาเป็นใช้แนวทางการทำเกษตรกรรมที่เป็น เกษตรทฤษฎีใหม่”  ที่เป็นเกษตรแบบผสมผสาน และใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียง มาประยุกต์ใช้ในแปลง  แล้วกลายเป็นเกษตรกรต้นแบบ ให้กับคนในชุมชน และชุมชนอื่นๆ ได้นำไปขยายผลกันต่อไปอีกพอสมควร
          สุดท้ายนี้ฉันอยากขอฝากทิ้งท้ายไว้สักนิดนะค่ะ เกษตรกรเป็นอาชีพที่รวยได้สถาบันการศึกษา และสื่อมวลชน ต้องช่วยกัน เปิดหู เปิดตา ทั้งผู้ใหญ่ และเยาวชน ให้เห็นว่าอาชีพเกษตรกร ไม่ใช่ทำแล้วจนอย่างเดียว ทำแล้วรวยก็มี เป็นอาชีพที่มีความสุข ไม่มีหนี้สิน และมีเวลา ที่ครอบครัวได้อยู่ร่วมกันอย่างอบอุ่น แล้วอาชีพเกษตรกร ก็จะเป็นกระดูกสันหลังของชาติ ที่ความแข็งแรง มั่นคง ตลอดไปค่ะ


                                                                                                                โดย นางสาวอุมาพร แจ่มจำรัส